วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558


วันขึ้นปีใหม่ของไทย


          ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ 2559 หรือ ปีใหม่ภาษาอังกฤษ Happy New Year 2016 ใกล้มาถึงแล้ว วันขึ้นปีใหม่ หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปี แล้วรู้หรือไม่ว่า ประวัติปีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีความหมายวันขึ้นปีใหม่ ประวัติวันขึ้นปีใหม่ มาฝาก  
ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติก ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March) 

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ. 2432 (ร.ศ. 108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อ ๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วันปีใหม่



ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ 2559 หรือ ปีใหม่ภาษาอังกฤษ Happy New Year 2016 ใกล้มาถึงแล้ว วันขึ้นปีใหม่ หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปี แล้วรู้หรือไม่ว่า ประวัติปีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีความหมายวันขึ้นปีใหม่

วันปีใหม่มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนียเริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทิน โดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนทุก 4 ปี
ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไข อีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้นจนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ โยซิเยนิส มาปรับปรุง ให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน
เมื่อเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันในทุก ๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน
วันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกพอดี เรียกว่า วสันตวิษุวัต
แต่ในปี ค.ศ. 1582 (เทียบเท่า พ.ศ. 2125) วสันตวิษุวัติ กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1582 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะปีดังกล่าว) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรโกเรียน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วันพ่อเเห่งชาติ ประจำปี 2558
ประวัติวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งความเป็นมาของวันสำคัญนี้ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วิทท์มอร์ เป็นผู้ถวายการประสูติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์


  วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริ่เริ่ม หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อ โดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญ ต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาว ไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน
ทางราชการจึงได้ กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม วันพ่อแห่งชาติ นี้
ดอกพุทธรักษา สัญลักษณ์แห่งวันพ่อแห่งชาติ
ใน วันพ่อแห่งชาติของทุกปี ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ ตัวแทนของวันพ่อ ได้แก่ ดอกพุทธรักษา ซึ่งทางคณะกรรมการได้คัดเลือกเนื่องจากดอกพุทธรักษรเป็นดอกไม้ที่มีสีเหลือง ทองสวยงาม และมีนามที่เป็นมงคลเป็นสัญลักษณ์อีกด้วย

ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา
วัตถุประสงค์ในการจัดงานวันพ่อแห่งชาติ
๑. เพื่อเทิดทูน และเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพ่อของแผ่นดินผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย
๒. เพื่อให้ผู้เป็นลูกได้สำนึกถึงพระคุณของพ่อ และตระหนังถึงหน้าที่ของลูกที่พึงมีต่อพ่อ ได้แก่ การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
๓. เพื่อให้ผู้ที่เป็นพ่อได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนที่พึงมีต่อบุตร ธิดา และครอบครัว
๔. เพื่อเผยแพร่พระคุณ และบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
๕. เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงบทบาท และพระคุณของพ่อที่มีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
๖. เพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับพ่อ และลูกที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี สมควรแก่การชื่นชมยกย่องของสังคมโดยทั่วไป
๗. เพื่อยกย่องพ่อดีเด่น และลูกที่มีความกตัญญูต่อพ่อ

ในหลวงทรงมีพระราชอารมณ์ขัน
พระราชอารมณ์ขัน ในหลวง
พระราชอารมณ์ขัน ในหลวง
เมื่อ พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เป็นที่สนใจต่อสื่อมวลชนของอเมริกาเป็นอย่างมาก จึงได้มีพระราชทานสัมภาษณ์ นักข่าวหนุ่มคนหนึ่งได้ทูลถามว่า “ทำไมพระองค์จึงทรงเคร่งขรึมนัก… ไม่ทรงยิ้มเลย?”
ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พลางรับส่งว่า“นั่นไง… ยิ้มของฉัน”
แสดงให้เห็นถึงพระราชปฏิภาณ และพระราชอารมณ์ขันอันล้ำลึกของพระองค์ท่าน ทำให้เป็นที่รักของประชาชนอเมริกันโดยทั่วไป ในวันที่เสด็จฯ รัฐสภาคองเกรส เพื่อทรงมีพระราชดำรัสต่อสภา จึงทรงได้รับการถวายการปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนานหลายครั้ง นี้เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น สามารถอ่าน ช่วงเวลาประทับใจ ในพระราชอารมณ์ขัน ของในหลวง
ทั้งนี้ในหลวงทรงมีคำสอนที่มีความหมายลึกซึ่ง ที่เป็นแรงผลักดัน สร้างกำลังใจให้ใครมาแล้วหลายคน สามารถอ่านคำสอนและ กำลังใจได้ที่นี่เลยครับ 9 คำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ประวัติวันลอยกระทง


ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่โบราณ โดยมีคติความเชื่อหลายอย่าง เช่น เชื่อว่าเป็นการบูชาและขอขมาแม่พระคงคา เป็นการสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท เป็นต้น การลอยกระทงนิยมทำกันในวันเพ็ญ เดือน 12 ของทุก ๆ ปี อันเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำลำคลองขึ้นสูงและอากาศเริ่มเย็นลง ตามพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้กล่าวว่า นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าแห่งกรุงสุโขทัย เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์กระทงสำหรับลอยประทีปเป็นรูปดอกบัวบานขึ้น ซึ่งคนทั่วไปนิยมทำตามสืบต่อมา นอกจากนั้นในศิลาจารึกหลักที่ 1 ยังได้กล่าวถึง งานเผาเทียน เล่นไฟ ของกรุงสุโขทัยไว้ด้วยว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้ผู้รู้ทั้งหลายสันนิษฐานต้องตรงกันว่า งานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน


ประวัติวันลอยกระทง

          นางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย คิดทำกระทงรูปดอกบัว และรูปต่างๆถวาย พระร่วงทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหล ในหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงตรัสว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอย เป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน"
          ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำกระทงขนาดใหญ่และสวยงาม ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของเจ้าพระยาทิพาราชวงศ์ กล่าวไว้ว่า "ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่งพิธีจองเปรียงนั้น เดิมได้โปรดให้ขอแรง พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมาทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด 10 ศอก 11 ศอก ทำประกวดประขันกันต่างๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง 4 บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้นๆบ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนและพระช่าง เบ็ดเสร็จก็ถึง 20 ชั่งบ้าง ย่อมกว่า 20 ชั่งบ้าง"

          ปัจจุบันประเพณีลอยกระทง มีการจัดงานกันแทบทุกจังหวัด ถือเป็นงานประจำปีที่สำคัญ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดขบวนแห่กระทงใหญ่ กระทงเล็ก มีการประกวดกระทง และประกวดธิดางามประจำกระทงด้วย ส่วนการลอยโคม ชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานยังนิยมทำกัน ชาวบ้านจะนำกระดาษ มาทำเป็นโคมขนาดใหญ่สีต่างๆ ถ้าลอยตอนกลางวัน จะทำให้โคมลอยโดยใช้ควันไฟ ถ้าเป็นเวลากลางคืน ก็จะใช้คบจุดที่ปากโคม ให้ควันพุ่งเข้าในโคม ทำให้ลอยไปตามกระแสลมหนาว เวลากลางคืนแลเห็นแสงไฟโคมบนท้องฟ้า พร้อมกับแสงจันทร์และดวงดาวสวยงามมากทีเดียว

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

DR รวมพลคนรักหนังสือปีที่ 6 (เดือนกรกฎาคม-แผนกมัธยม)

            ห้องสมุดมัธยมโรงเรียนดรุณาราชบุรี จัดกิจกรรม “ D.R รวมพลคนรักหนังสือ” ขึ้นเป็นปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดและรักการอ่านมากขึ้น จึงได้มีการรณรงค์ให้นักเรียนยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้าน โดยทางห้องสมุดได้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่ยืมหนังสือเพื่อมอบเกียรติบัตรยกย่องให้เป็นสุดยอด นักอ่านประจำเดือนนั้น ๆ ให้กับนักเรียน พร้อมทั้งให้นักเรียนบันทึกหนังสือที่ตนชื่นชอบเพื่อแบ่งปันให้นักอ่านคนอื่นได้รู้จักหนังสือเล่มนั้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยนักเรียนที่ได้รับเกียรติบัตร ประจำเดือน กรกฎาคม 2558 มีดังนี้

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การแข่งขันสุนทรพจน์ “วันแม่”


        พระครูวิฑัตพัฒนโสภณ รองเจ้าคณะอำเภอโพธาราม เจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์และผู้อำนวยการศูนย์วาทศิลป์วัดพระศรีอารย์ ได้จัดแข่งขันสุนทรพจน์ เทิดพระคุณแม่ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม “วันแม่แห่งชาติ” โรงเรียนดรุณาราชบุรีได้ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันได้รับรางวัล โดยมีวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีเป็น ผู้มอบเกียรติบัตร ดังนี้

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โครงการดรุณาวาทศิลป์ ระดับมัธยมศึกษา

           โรงเรียนดรุณาราชบุรี แผนกประถม จัดกิจกรรม “ค่ายดรุณาวาทศิลป์สัมพันธ์รุ่นที่ 13” ประจำปีการศึกษา 2558 เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ฝึกอบรมด้านการพูดให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้นักเรียน กล้าแสดงออกถึงความสามารถในด้านทักษะการพูดต่อหน้าผู้อื่น และในชุมชน โดยมีคุณครูสุธรรม การะเกตุ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไปเป็นประธาน และกล่าวให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

DR รวมพลคนรักหนังสือปีที่ 6 (เดือนมิถุนายน-แผนกมัธยม)

              ห้องสมุดประถมโรงเรียนดรุณาราชบุรี จัดกิจกรรม “ D.R รวมพลคนรักหนังสือ” ขึ้นเป็นปีที่ 6 เพื่อให้นักเรียนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดและรักการอ่านมากขึ้น จึงได้มีการรณรงค์ให้นักเรียนยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้าน โดยทางห้องสมุดได้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่ยืมหนังสือเพื่อมอบเกียรติบัตรยกย่องให้เป็นสุดยอด นักอ่านประจำเดือนนั้น ๆ ให้กับนักเรียน พร้อมทั้งให้นักเรียนบันทึกหนังสือที่ตนชื่นชอบเพื่อแบ่งปันให้นักอ่านคนอื่นได้รู้จักหนังสือเล่มนั้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยนักเรียนที่ได้รับเกียรติบัตร ประจำเดือน มิถุนายน 2558 มีดังนี้

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วันภาษาไทยแห่งชาติ

29 กรกฏาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ
                 ในวันที่ 29 กรกฏาคม ที่จะถึงนี้ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งคือ วันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งมีไว้ให้เราไว้รำลึกถึงคุณค่าของภาษาไทยที่เป็นเราเอง ซึ่งจะตรงกับวันที่ 29 กรกฏาคม ของทุกปี รู้ถึงความสำคัญอย่างนี้แล้ว เรามารู้จักประวัติ และความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติกันดีกว่า

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ดรุณารวมพลังรักการอ่าน

                ห้องสมุดดรุณาราชบุรี จัดกิจกรรม "ดรุณารวมพลังรักการอ่าน: การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ สร้างเสริมการใช้เวลาเพื่อการค้นคว้า" ในระหว่างวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2558 โดยมีกิจกรรมพิธีเปิดในวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ณ อาคารเซนต์ปีเตอร์ โดยบาทหลวง ดร.สุรินทร์ จารย์อุปการะ ให้ข้อคิดแก่นักเรียนร่วมกิจกรรมด้วยความสุขสนุกสนาน และชมนิทรรศการต่างๆดังนี้ 

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กิจกรรม "สดุดีกวีภู่"

กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ได้จัดกิจกรรม"สดุดีกวีภู่" 
ขึ้นในวันที่ 22 - 26 มิถุนายน 2558 ณ หอประชุมเซนต์ปอลฮอลและห้องบอสโก 1 โรงเรียนดรุณาราชบุรี  ในกิจกรรมดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
1) วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2558 
-   กิจกรรมการตอบคำถามวันสุนทรภู่ ตั้งแต่เวลา 11:40 น. - 12:20 น.
2) วันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2558
-   กิจกรรมการประกวดคัดลายมือ หัวข้อ " สดุดีกวีภู่ " ตั้งแต่เวลา 11:40 น. - 12:20 น.
3) วันพุธที่ 24 มิถุนายน 2558
-   กิจกรรมการประกวดการแต่งกลอนสุภาพ หัวข้อ " ครูกวีศรีสุนทร " จำนวน 2 บท ตั้งแต่เวลา 11:40 น. - 12:20 น.
4) การอ่านประวัติโดยย่อของท่านสุนทรภู่ ในช่วงกิจกรรมหน้าเสาธงในตอนเช้า บริเวณหน้า                                                                    อาคาร 1

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

กิจกรรมกลุ่มสาระภาษาไทย

ประชาสัมพันธ์ขอเชิญร่วมกิจกรรมกลุ่มสาระภาษาไทย
ที่ห้องประชุม เซนต์ปอลฮอล ดรุณาราชบุรี
พบกับกิจกรรมต่างๆมากมาย

ติดตามได้เวลา11.35น. ในวันจันทร์ที่ 22 - วันพุธที่ 24 และวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายนนี้

------------------------------------------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 22 กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหา สุนทรภู่







วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สดุดีกวีภู่

สุดสาคร

ประวัติสุนทรภู่

ประวัติสุนทรภู่แบบย่อ

      สุนทรภู่  เป็นกระฏุมพีผู้ดีมีมีมิตรชาวบางกอก  เกิดในวังหลัง  ปากคลองบางกอกน้อย) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 ยุค ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 1 เมื่อเติบโตขึ้นเข้ารับราชการในวังหลวง  เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจำราชสำนักรัชกาลที่ 2 ต่อมาได้ ออกบวชในรัชกาลที่ 3 อยู่วัดเทพธิดาราม นานถึง 18 ปี (พ.ศ.2367-2385 อายุ 38-56 ปี) แล้วลาสึกมารับราชการในวังหน้ากับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ (แต่อาศัยอยู่พระราชวังเดิม ธนบุรี) จนถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2398 อายุ 69 ปี

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประชุมครูผู้ดูแลเว็บบล็อกกลุ่มสาระการเรียนรู้

              กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนดรุณาราชบุรี ได้จัดประชุมครูผู้สอนแต่ละกลุ่มสะระการเรียนรู้ ที่ดูแลเว็บบล็อก เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมคาเร็ตโต อาคาร 1 นายวีระพจน์ รัตนรัตน์ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีได้พูดถึง    การใช้ไอซีทีมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โรงเรียนดรุณาราชบุรีได้จัดให้มีการจัดสร้างเว็บบล็อกแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อเผยแพร่กิจกรรม การเรียนการสอนรวมถึงผลงานของนักเรียนและครูในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน 

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

DR รวมพลคนรักหนังสือปีที่ 5 (เดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ แผนกมัธยม)

ห้องสมุดมัธยมโรงเรียนดรุณาราชบุรี จัดกิจกรรม “ D.R รวมพลคนรักหนังสือ” ขึ้นเป็นปีที่ 5 เพื่อให้นักเรียนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดและรักการอ่านมากขึ้น จึงได้มีการรณรงค์ให้นักเรียนยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้าน โดยทางห้องสมุดได้ทำการคัดเลือกนักเรียนที่ยืมหนังสือเพื่อมอบเกียรติบัตร ยกย่องให้เป็นสุดยอด นักอ่านประจำเดือนนั้น ๆ ให้กับนักเรียน พร้อมทั้งให้นักเรียนบันทึกหนังสือที่ตนชื่นชอบเพื่อแบ่งปันให้นักอ่านคน อื่นได้รู้จักหนังสือเล่มนั้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย


...


วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แผนการสอนในกลุ่มสาระภาษาไทย


มีการเน้นเรื่องมารยาท















การยกตัวอย่างกลอนในหนังสือ




มีการเน้นให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง

    คำถาม??
:กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างไรบ้าง
:มีการสอนเกี่ยวกับเนื้อหาในเรื่องกลอน และอื่นๆ เน้นในการให้ผู้เรียน  เรียนรู้ด้วยตนเอง

:มีเทคนิคการสอนอย่างไร
:ให้เด็กๆนั้นได้ร่วมทำกิจกรรมกับคุณครู ให้ฝึกทำงานในเรื่องนั้นๆ

:ทำอย่างไรให้นักเรียนอยู่ในการควบคุม
:มีกฎระเบียบของห้อง และเด็กๆให้ความร่วมมือในการตั้งใจเรียน





ขอขอบคุณ : คุณครูเมธี เซียมเอคู และเพื่อนๆในห้อง
                     ที่ให้ความร่วมมือ 

วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

พิธีวันครู

ผู้บริหาร คณะครูโรงเรียนดรุณาราชบุรี ร่วมงานวันครู ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 16 มกราคม 2558 ในพิธี ตัวแทนคุณครูรับรางวัลครูแสนดี หลังพิธีมีกิจกรรมแข่งขันกีฬาไทยเชื่อมความสามัคคี รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เป็นที่ประทับใจและสนุกสนานกันถ้วนหน้า
ภาพโดย : คุณครูสุนทร ปานบุตรสะราคัม

วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

การละเล่นของเด็กไทยในสมัยก่อน



เล่นซ่อนหา หรือ โป้งแปะ


           "เล่นซ่อนหา" หรือ "โป้งแปะ" เป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน และยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะกติกาง่าย แถมสนุก และต้องมีการกำหนดอาณาเขต เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป จนถึงวันนี้ก็ยังมีเด็ก ๆ จับกลุ่มกันเล่นซ่อนหาให้เห็นกันอยู่ 

           โดยกติกาก็คือ คนที่เป็น "ผู้หา" ต้องปิดตา และให้เพื่อน ๆ ไปหลบหาที่ซ่อน โดยอาจจะนับเลขก็ได้ ส่วน "ผู้ซ่อน" ในสมัยก่อนจะต้องร้องว่า "ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว" แล้วแยกย้ายกันไปซ่อน เมื่อ "ผู้หา" คาดคะเนว่าทุกคนซ่อนตัวหมดแล้ว จะร้องถามว่า "เอาหรือยัง" ซึ่งเมื่อ "ผู้ซ่อน" ตอบว่า "เอาล่ะ" "ผู้หา" ก็จะเปิดตาและหาเพื่อน ๆ ตามจุดต่าง ๆ เมื่อหาพบจะพูดว่า "โป้ง..(ตามด้วยชื่อผู้ที่พบ)" ซึ่งสามารถ "โป้ง" คนที่เห็นในระยะไกลได้ จากนั้น "ผู้หา" จะหาไปเรื่อย ๆ จนครบ ผู้ที่ถูกหาพบคนแรกจะต้องมาเปลี่ยนมาเป็น "ผู้หา" แทน แต่หากใครซ่อนเก่ง "ผู้หา" หาอย่างไรก็ไม่เจอสักที "ผู้ซ่อน" คนที่ยังไม่ถูกพบสามารถเข้ามาแตะตัว "ผู้หา" พร้อมกับร้องว่า "แปะ" เพื่อให้ "ผู้หา" เป็นต่ออีกรอบหนึ่งได้

           ประโยชน์จากการเล่นซ่อนหา ก็คือ ฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต สามารถจับทิศทางของเสียงได้ รวมทั้งรู้จักประเมินสถานที่ซ่อนตัว จึงฝึกความรอบคอบได้อีกทาง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เล่นสนุกสนาน อารมณ์แจ่มใจเบิกบานไปด้วย



หมากเก็บ

          
การละเล่นยอดฮิตสำหรับเด็กผู้หญิงนั่นเอง ปกติจะใช้ผู้เล่น 2-4 คน และใช้ก้อนกรวดกลม ๆ 5 ก้อนเป็นอุปกรณ์

           กติกาก็คือ ต้องมีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เล่นก่อน โดยใช้วิธี "ขึ้นร้าน" คือแบมือถือหมากทั้ง 5 เม็ดไว้ แล้วโยนหมาก ก่อนจะหงายมือรับ แล้วพลิกมือกลับรับหมากอีกที ใครมีหมากอยู่บนมือมากที่สุด คนนั้นจะได้เป็นผู้เล่นก่อน

           จากนั้นจะแบ่งการเล่นเป็น 5 หมาก โดยหมากที่ 1 ทอดหมากให้อยู่ห่าง ๆ กัน แล้วเลือกลูกนำไว้ 1 เม็ด ก่อนจะไล่เก็บหมากที่เหลือ โดยการโยนเม็ดนำขึ้น พร้อมเก็บหมากครั้งละเม็ด และต้องรับลูกที่โยนขึ้นให้ได้ ถ้ารับไม่ได้ถือว่า "ตาย" หรือถ้ามือไปถูกเม็ดอื่นก็ถือว่า "ตาย" เช่นกัน

           ในหมากที่ 2 ก็ใช้วิธีการเดียวกัน แต่เก็บทีละ 2 เม็ด เช่นเดียวกับหมากที่ 3 ใช้เก็บทีละ 3 เม็ด ส่วนหมากที่ 4 จะไม่ทอดหมาก แต่จะใช้ "โปะ" คือถือหมากทั้งหมดไว้ในมือ โยนลูกนำขึ้นแล้วโปะเม็ดที่เหลือลงพื้น แล้วรวมทั้งหมดที่ถือไว้ "ขึ้นร้าน" ได้กี่เม็ดถือเป็นแต้มของผู้เล่นคนนั้น ถ้าไม่ได้ถือว่า "ตาย" แล้วให้คนอื่นเล่นต่อไป โดย "ตาย" หมากไหนก็เริ่มที่หมากนั้น ปกติการเล่นหมากเก็บจะกำหนดไว้ที่ 50-100 แต้ม ดังนั้นเมื่อแต้มใกล้ครบ เวลาขึ้นร้านต้องระวังไม่ให้แต้มเกิน ถ้าเกินต้องเริ่มต้นใหม่

           อย่างไรก็ตาม ปกติแล้ว "หมากเก็บ" มีวิธีเล่นหลายอย่าง แต่ละอย่างก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น หมากพวง , หมากจุ๊บ ,อีกาเข้ารัง





รีรีข้าวสาร

           เชื่อเลยว่า ชีวิตในวัยเด็กของคนส่วนใหญ่ผ่านการละเล่น "รีรีข้าวสาร" มาแล้ว และยังร้องบทร้องคุ้นหูที่ว่า "รีรี ข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน คอยพานคนข้างหลังไว" ได้ด้วย

           กติกา รีรีข้าวสาร ก็คือ ต้องมีผู้เล่น 2 คนหันหน้าเข้าหากัน และเอามือประสานกันไว้เป็นรูปซุ้ม ส่วนผู้เล่นคนอื่น ๆ จะกี่คนก็ได้จะยืนเกาะเอวกันไว้ตามลำดับ หัวแถวจะพาขบวนลอดซุ้มพร้อมร้องเพลง "รีรีข้าวสาร" จนเมื่อถึงประโยคที่ว่า "คอยพานคนข้างหลังไว้" ผู้ที่ประสานมือเป็นซุ้มจะลดมือลงกันไม่ให้คนสุดท้ายผ่านเข้าไป เรียกว่า "คัดคน" และเล่นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนคนหมด

           ประโยชน์ของการเล่นรีรีข้าวสาร ก็คือ ช่วยให้จิตใจร่าเริงแจ่มใส รู้จักมีไหวพริบ ใช้กลยุทธ์ให้ตัวเองเอาตัวรอดจากการถูกคล้องไว้ได้ รวมทั้งฝึกให้เด็กทำงานเป็นกลุ่มได้ด้วย




มอญซ่อนผ้า

           การละเล่นแสนสนุกที่ทำให้ผู้เล่นได้ลุ้นไปด้วย โดยใช้อุปกรณ์เพียงแค่ผ้าผืนเดียวเท่านั้น แล้วให้ผู้เล่นเสี่ยงทาย ใครแพ้คนนั้นต้องเป็น "มอญ" ส่วนคนอื่น ๆ มานั่งล้อมวง คนที่เป็น "มอญ" จะต้องถือผ้าไว้ในมือแล้วเดินวนอยู่นอกวง จากนั้นคนนั่งในวงจะร้องเพลงว่า "มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ไว้โน่นไว้นี่ ฉันจะตีก้นเธอ" 

           ระหว่างเพลงร้องอยู่ คนที่เป็น "มอญ" จะแอบทิ้งผ้าไว้ข้างหลังผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง แต่เมื่อทิ้งผ้าแล้ว จะแกล้งทำเป็นยังไม่ทิ้ง โดยเดินวนไปอีก 1 รอบ หากผู้ที่ถูกทิ้งผ้าไม่รู้ตัว "มอญ" จะหยิบผ้ามาตีหลังผู้เล่นคนนั้น แล้วต้องกลายเป็น "มอญ" แทน แต่หากผู้เล่นรู้ตัวว่ามีผ้าอยู่ข้างหลัง ก็จะหยิบผ้ามาวิ่งไล่ตี "มอญ" รอบวง "มอญ" ต้องรีบกลับมานั่งแทนที่ผู้เล่นคนนั้น แล้วผู้ที่วิ่งไล่ต้องเปลี่ยนเป็น "มอญ" แทน




เดินกะลา

           ดูจะเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่หาดูได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเป็นสมัยก่อนจะเห็นเด็ก ๆ เดินกะลา กันทั่วไป โดยผู้เล่นจะต้องนำกะลามะพร้าว 2 อันมาทำความสะอาดแล้วเจาะรูตรงกลาง ร้อยเชือกให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้เชือกหลุดเวลาเดิน เวลาเดินให้ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้คีบเชือกเอาไว้แล้วเดิน หากมีเด็ก ๆ หลายคนอาจจัดแข่ง เดินกะลา ได้ด้วยการกำหนดเส้นชัยไว้ใครเดินถึงก่อนก็เป็นผู้ชนะไป 

           ประโยชน์ของการ เดินกะลา ก็คือช่วยฝึกการทรงตัว ความสมดุลของร่างกาย เพราะต้องระวังไม่ให้ตกกะลา ช่วงแรก ๆ อาจจะรู้สึกเจ็บเท้า แต่ถ้าฝึกบ่อย ๆ จะชินและหายเจ็บไปเอง แถมยังทำให้ร่างกายแข็งแรง เพลิดเพลินอีกด้วย



กาฟักไข่

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่เคยได้ยินชื่อ แต่หลายคนไม่ทราบกติกา โดยวิธีการเล่นก็คือ ใช้อะไรก็ได้ลักษณะกลม ๆ เท่าจำนวนคนเล่น ยกเว้นผู้ที่เป็นกา 1 คน มาสมมติว่าเป็น "ไข่" แล้วเขียนวงกลมลงบนพื้น 2 วง วงแรกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ฟุต และอีกวงหนึ่งอยู่ข้างในวงแรก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต วาง "ไข่" ทั้งหมดไว้ในวงกลมเล็ก ให้คนใดคนหนึ่งเป็นกา ยืนในวงกลมวงใหญ่ หรือนั่งคร่อมวงกลมเล็ก นอกนั้นทุกคนยืนรอบนอกวงกลมวงใหญ่ คอยแย่งไข่ คนเป็นกามีหน้าที่ป้องกันไข่ ไม่ให้ถูกแย่งไป

           กติกาของ กาฟักไข่ ก็คือคนข้างนอกต้องแย่งไข่มาให้ได้ โดยใช้แขนหรือมือเอื้อมเข้าไป แต่ห้ามนำตัวเข้าไปในวงกลม และต้องระวังไม่ให้อีกาถูกมือหรือแขนได้ด้วย หากแย่งไข่ออกมาได้หมดแล้ว ให้ปิดตากา แล้วนำไข่ทั้งหมดไปซ่อน เพื่อให้กาตามหาไข่ หากพบไข่ที่ผู้เล่นคนใดนำไปซ่อน ผู้นั้นจะต้องเปลี่ยนมาเป็นกาแทน




งูกินหาง

           "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน..." ประโยคคุ้น ๆ ให้การเล่น งูกินหาง ที่ยังติดตรึงในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน และเป็นที่นิยมของเด็กในทุกเทศกาล ทุกโอกาสอีกด้วย

           วิธีการเล่นงูกินหาง เริ่มจากเสี่ยงทาย ใครแพ้ต้องไปเป็น "พ่องู" ส่วนผู้ชนะที่มีร่างกายแข็งแรง ตัวใหญ่จะเป็น "แม่งู" ไว้คอยปกป้องเพื่อน ๆ คนอื่นที่เป็น "ลูกงู" จากนั้น "ลูกงู" จะเกาะเอวแม่งูและต่อแถวกันไว้ ยืนเผชิญหน้ากับ "พ่องู" จากนั้นจะเข้าสู่บทร้อง โดยพ่องูจะถามว่า

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู : "กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           พ่องู"แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู"กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา" (พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา)

           พ่องู : "แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน"

           แม่งู"กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา" (พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา)

           จากนั้นพ่องูจะพูดว่า "กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว" แล้ววิ่งไล่จับลูกงูที่กอดเอวอยู่ ส่วนแม่งูก็ต้องป้องกันไม่ให้พ่องูจับลูกงูไปได้ เมื่อลูกงูคนไหนถูกจับ จะออกจากแถวมายืนอยู่ด้านนอก เพื่อรอเล่นรอบต่อไป หากพ่องูแย่งลูกได้หมด จะถือว่าจบเกมแล้วเริ่มเล่นใหม่ โดยพ่องูจะกลับไปเป็นแม่งูต่อในรอบต่อไป

           ประโยชน์ของการเล่นงูกินหาง ก็คือ ทำให้ผู้เล่นเกิดความสามัคคี ทำงานเป็นกลุ่ม รู้จักช่วยเหลือกัน และรู้จักการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด เมื่อภัยมาถึงตัว นอกจากนี้ยังฝึกร่างกายให้แข็งแรง และจิตใจเบิกบานสนุกสนานไปด้วย



ม้าก้านกล้วย

           เป็นอีกหนึ่งการละเล่นที่แสดงถึงความมีภูมิปัญญาของคนไทยทีเดียว เพราะในสมัยก่อนแทบทุกบ้านจะปลูกต้นกล้วยไว้ทั้งนั้น ดังนั้น ต้นกล้วยจึงนำมาประยุกต์เป็นของเล่นให้เด็ก ๆ ได้อย่างดีทีเดียว โดยเฉพาะ ม้าก้านกล้วย ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจเด็กชายวัยซนมากที่สุด เพราะเด็ก ๆ จะนำก้านกล้วยมาขี่เป็นม้า เพื่อแข่งขันกัน หรือทำเป็นดาบรบกันก็ได้

           วิธีทำม้าก้านกล้วย ก็ไม่ยาก เลือกตัดใบกล้วยออกมาแล้วเอามีดเลาะใบกล้วยออก แต่เหลือไว้ที่ปลายเล็กน้อยให้เป็นหางม้า เอามีดฝานแฉลบด้านข้างก้านกล้วยตรงโคนบาง ๆ เพื่อทำเป็นหูม้า แล้วหักก้านกล้วยตรงโคนหูม้าออก จากนั้นก็นำแขนงไม้ไผ่มาเสี้ยมปลายให้แหลม ความยาวประมาณคืบกว่า ๆ เสียบหัวม้าที่พับเอาไว้จนทะลุไปถึงก้าน เพื่อให้เป็นสายบังเหียนผูกปากกับคอม้านั่นเอง เสร็จแล้วก็นำเชือกกล้วยมาผูกด้านหัวม้าและหางม้า ทำเป็นสายสะพายบ่า แค่นี้ก็ได้ม้าก้านกล้วยไปสนุกกับเพื่อน ๆ แล้ว


ว่าวไทย

           เชื่อว่าหลายคน คงเคยมีประสบการณ์การเล่นว่าวในช่วงปิดเทอมที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว แม้ว่าตอนนี้ภาพนั้นจะค่อย ๆ จางหายไปแล้วก็ตาม โดย "การเล่นว่าวไทย" นั้น เริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา ตามที่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมของไทยได้อย่างดี เพราะแต่ละท้องถิ่นจะคิดประดิษฐ์ว่าวแตกต่างกันไป "ว่าวไทย" จึงกลายเป็นมรดกตกทอดของแต่ละชุมชนและมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น

           โดย "ว่าว" มีหลายประเภท เช่น "ว่าวจุฬา" มีลักษณะเป็น 5 แฉก นิยมเล่นในภาคกลาง ,"ว่าววงเดือน" หรือ "ว่าวบุหลัน" มักตกแต่งเป็นลวดลายเรือกอและ นิยมเล่นในภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ยังมี "ว่าวปักเป้า", "ว่าวงู" ฯลฯ 

           การเล่นว่าวนั้น เล่นได้ทั้งหน้าหนาวและหน้าร้อน โดยอาศัยกระแสลมเป็นตัวฉุดให้ว่าวลอยขึ้น โดยหากเป็นลมหน้าหนาว จะเป็นลมที่พัดจากผืนแผ่นดินลงสู่ทะเล ทำให้คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเล่นว่าวกันในช่วงนี้ ส่วนหน้าร้อน มีลมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลพัดสู่ผืนแผ่นดินใหญ่ เรียกว่า "ลมตะเภา" ทำให้ชาวภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ นิยมเล่นว่าวในฤดูนี้

           ส่วนวิธีการเล่นว่าวนั้น ส่วนใหญ่จะชักว่าวให้ลอยสูงติดลมบน เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปต่าง ๆ หรือฟังเสียงของว่าว นอกจากนี้ยังสามารถชักว่าวต่อสู้กันบนอากาศก็ได้

           ยังมีอีกหลายการละเล่นที่เด็กไทยสมัยก่อนนิยมนำมาเล่นกัน เช่น ขี่ม้าส่งเมือง, ตี่จับ, โมราเรียกชื่อ, ลิงชิงหลัก, ตั้งเต, โพงพาง, ชักเย่อ ,กระต่ายขาเดียว, กระโดดยาง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ที่สร้างสรรค์มรดกตกทอดทางวัฒนธรรมให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ได้อย่างดีทีเดียว